ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก


ปัจจุบัน อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก ระบุว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆของผู้หญิงทั่วโลก มีการประมาณกันไว้ว่า ในทุกๆปี จะพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ มากกว่า 500,000 ราย และครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น จะเสียชีวิตลง ซึ่งนับได้ว่าทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึง 30 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงจากอุบัติเหตุเลยทีเดียว
ในส่วนของประเทศไทยเอง แต่ละปี จะพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 10,000 ราย และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,000 ราย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยนั้นเพิ่มขึ้นจาก 7 คน เป็น 14 คน ต่อวัน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาทเพราะคิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยง แล้วจะเป็นโรคนี้ได้อย่างไร? แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงทุกคนที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งสิ้น แม้จะเป็นเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวก็ตาม !!
จากสถิติ รายงานว่า 30% ของผู้หญิงไทย ไม่เคยได้เข้ารับการตรวจแปปสเมียร์เพื่อคัดกรองหาเชื้อมะเร็งปากมดลูกเลย
ข่าวดี ก็คือ!! มะเร็งปากมดลูก สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ก่อนจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลาม
ปัจจุบัน วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก คือ การตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อมะเร็งปากมดลูก หรือ แปปสเมียร์ (Pap Smear) โดยมี 2 วิธี คือ
- การตรวจแปปสเมียร์ด้วยวิธีดั้งเดิม (Conventional Pap Smear)
- การตรวจแปปสเมียร์ด้วยวิธี Liquid Based Cytology ซึ่งวิธีนี้ เป็นวิธีที่ได้รับการศึกษา และยอมรับแล้วว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการตรวจแปปสเมียร์ด้วยวิธีดั้งเดิม (Conventional Pap Smear) อย่างมีนัยสำคัญ
จากการศึกษาค้นพบแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อฮิวแมนแพพพิลโลม่าไวรัส (Human Papilloma Virus : HPV) ที่บริเวณปากมดลูก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้น ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น ไวรัส HPV สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33 เป็นต้น
โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส HPV คือ
- การมีคู่นอนหลายคน
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพียงการสัมผัสระหว่างผิวหนังกับผิวหนังโดยตรง
และการสวมใส่ถุงยางอนามัย ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ 100%
ปัจจุบันได้มีการสร้างวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากมะเร็งปากมดลูก แต่ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า ผู้หญิงที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาแล้วนั้น ก็ยังควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกหรือแปปสเมียร์อยู่ดี เพราะวัคซีนที่ฉีดนั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ทั้งหมด 100%